พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ถือได้ว่าเป็นกฎหมายด้านการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลอย่างกว้างขวาง เพื่อกำหนดเนื้อหาสาระต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของชาติอย่างมาก นับตั้งแต่การกำหนดความมุ่งหมายของการศึกษา ที่เน้นการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม (มาตรา 6) การจัดการศึกษาโดยยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา (มาตรา 8) การกำหนดสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาของบุคคล บิดามารดา ครอบครัว ชุมชน องค์กรรัฐ องค์กรเอกชน สถาบันต่างๆ ทางสังคม (มาตรา 10 – มาตรา 14) การกำหนดระบบการศึกษา ซึ่งระบุไว้ว่ามี 3 รูปแบบ คือการศึกษาในระบบและนอกระบบการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยให้มีการผสมผสานและการเทียบโอนผลการเรียนระหว่างรูปแบบเดียวกัน และต่างรูปแบบกันได้
ในการสร้างฐานความรู้โดยอาศัยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งในปัจจุบันนับได้ว่ามีความสำคัญ และมีความจำเป็นต่อวงการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่ง ส่งเสริม สนับสนุนเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นกลไกในการจัดการศึกษา เพื่อก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ที่จะตอบสนองให้ผู้เรียนและประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างทั่วถึง มีความเสมอภาคและมีประสิทธิภาพที่เท่าเทียมกัน ที่สำคัญจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่จะนำพาไปสู่การสร้างสังคมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปัจจุบันระบบการจัดการศึกษาแบบ e-learning ได้รับการยอมรับว่าเป็นกลไกสำคัญอีกระบบหนึ่งที่มีคุณลักษณะในการสนับสนุน ส่งเสริม ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างอิสระ ช่วยให้เข้าถึงแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ได้อย่างรวดเร็วและสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย นอกจากนี้ การจัดการศึกษารูปแบบ e-learning นี้ เป็นการสนองตอบแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก ผู้เรียนสามารถเข้าถึง ควบคุมกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (Self-Directed Learning) กระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาได้อย่างอิสระ เป็นการเรียน รู้ในลักษณะผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลายสนองต่อกลไกการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานการศึกษาเดียวกัน เรียนรู้ได้ทุกเวลา เข้าถึงสาระเนื้อหาได้ในทุกสถานที่ (anyone-anywhere-anytime learning) โดยใช้กลไกของเทคโนโลยีสารสนเทศ
แต่การจัดการศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในระบบชั้นเรียน โลกของการศึกษาในปัจจุบันกว้างไกล ไร้ขอบเขต ผ่านกลไก กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งประสิทธิภาพโดยรวมของระบบการสื่อสาร เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และองค์ประกอบร่วมสามารถรองรับกระบวนการจัดการศึกษา การส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบ interactive และมัลติมีเดียได้เป็นอย่างดี และภาพความเป็นจริงของการจัดและส่งเสริมการศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน. ในปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก การใช้ศักยภาพช่องทางทางเทคโนโลยีสารสนเทศให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีด้านต่างๆที่เปลี่ยนไป นำมาจัดการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ดูเหมือนว่ายังทำได้ไม่เต็มที่นัก แม้ว่าจะยังมีกลุ่มคนที่ทำงานด้าน ICT ในสังกัด สำนักงาน กศน. อาทิ สถาบันการศึกษาทางไกล สถาบัน กศน.ภาคต่างๆ ทั้ง 5 ภาค สำนักงาน กศน.จังหวัด จะร่วมมือรวมกลุ่มเป็นทีมงาน เพื่อสร้างงาน สร้างฐานการเรียนรู้ รวมถึงการฝึกอบรมให้บุคลากรในเขตพื้นที่ ที่รับผิดชอบได้มีความรู้ มีทักษะ และความพร้อมที่จะขับเคลื่อนในการจัดการศึกษา หรือการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย ICT อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนในการจัดการศึกษาด้วย ICT เป็นไปค่อนข้างช้า การฝึกอบรมบุคลากรในแต่ละปีมีจำนวนไม่มากพอ อีกทั้งขาดการติดตาม ขาดการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง จากการติดตามโดยผู้จัดการอบรมในระดับภาค พบว่า การสร้างงานโดยคนที่ผ่านการอบรม มีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้หลักสูตร เนื้อหา สาระการเรียนรู้ ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ การใช้งาน การเข้าถึงช่องทาง เส้นทางการศึกษาด้วยวิธีนี้ ก็ยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะบางสถานศึกษาเท่านั้น
ในอดีต สำนักงาน กศน. เคยนำเอาเทคโนโลยี Social network รวมถึง Social media มาใช้งานอย่างหลากหลาย ทั้งแบบที่ให้ใช้งานฟรี แบบเช่าบริการ และแบบจ้างสร้างระบบ อาทิ Google Apps, GotoKnow, NFE Teamwork Solution, NFE Portal web (gnfe) และอื่นๆ แต่ปัจจุบันสถาบัน กศน.ภาค ได้นำเอา Social media มาใช้ในการสร้างฐานการเรียนรู้ รวมถึงการให้การอบรมพัฒนาบุคลากรให้กับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ของแต่ละภาค อาทิ Blogger, YouTube, Google Plus เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้การจัดการศึกษาออนไลน์ของ กศน. เติบโตช้า อาทิ
1.ระยะเวลาการอบรมในแต่ละหลักสูตร น้อยเกินไป
2.ภาระงานในหน้าที่ของครูหรือบุคลากรทางการศึกษาที่มาเข้ารับการอบรม มีมาก
3.ผู้เข้ารับการอบรมขาดใจรักในการสร้างงาน
4.ผู้ผ่านการอบรม ไม่ทำการศึกษาเพิ่มเติม
5.หน่วยงาน สถานศึกษาที่จัดการฝึกอบรมไม่มีการฝึกอบรมฝึกทักษะเพิ่มเติมต่อเนื่อง
6.การสนับสนุนด้านงบประมาณ รวมถึงการให้ความสำคัญเชิงประจักษ์มีน้อย
7.สถานศึกษายังคงยึดติดกับรูปแบบการจัดการศึกษาแบบเดิม
8.เครื่องมือและอุปกรณ์ มีจำกัด และล้าสมัย
9.ขาดการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุก
10.การกำหนดนโยบายด้านการจัดการศึกษาด้วยช่องทาง ICT ไม่ต่อเนื่อง
11.ครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับบริหารและระดับนโยบายหลายราย ยังเข้าใจบริบทของการศึกษาออนไลน์คลาดเคลื่อน
หากพิจารณาแผนภูมิหลักด้านบนที่ปรากฏใน ยุทธศาสตร์และจุดเน้นการดำเนินงานสำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ 2559 จะพบว่า สำนักงาน กศน.ได้กำหนด พันธกิจ ในการดำเนินการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งปรากฏข้อความในข้อ 3 ใจความว่า ส่งเสริมและพัฒนาการนําเทคโนโลยีทางการศึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และกำหนดเป้าประสงค์ในข้อ 8 อย่างชัดเจนว่า หน่วยงานและสถานศึกษาพัฒนาและนําสื่อ เทคโนโลยีทางการศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้ในการเพิ่มโอกาสและยกระดับคุณภาพในการจัดการเรียนรู้ รวมถึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรที่ระบุไว้ในข้อ 9 ว่า บุคลากรของหน่วยงานและสถานศึกษาได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการปฏิบัติงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างทั่วถึง และหากไปมองถึงยุทธศาสตร์และจุดเน้นการดำเนินงาน สำนักงาน กศน. ก็ยังได้ให้ความสำคัญต่อการใช้ ICT เพื่อเป็นเครื่องมือ เป็นกลไกสำคัญในการจัดการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งปรากฏในยุทธศาสตร์ ที่ 1 และ 2 ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1
พัฒนา กศน.ตําบลให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาและส่งเสริมภาคีเครือข่ายในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างและกระจายโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน
จุดเน้นการดําเนินงาน
1.2 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กศน.ตําบล ให้มีความพร้อมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้มีความพร้อมในการให้บริการการศึกษาและการเรียนรู้ที่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนและชุมชน และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง
ยุทธศาสตร์ที่ 2
ลดความเหลื่อมล้ํา สร้างโอกาส และยกระดับคุณภาพการศึกษา
จุดเน้นการดําเนินงาน
2.3 ยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาและการเรียนรู้การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย “ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้” โดยการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาสื่อการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การพัฒนาระบบ ICT การพัฒนาบุคลากรผู้เกี่ยวข้อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา การประเมินเทียบระดับการศึกษาการพัฒนาระบบการสะสมและเทียบโอนผลการเรียน และให้ความสําคัญกับการวิจัยเพื่อการพัฒนางานในรูปแบบต่างๆ
2.4 ใช้สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษา และเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยและเหมาะสมเป็นเครื่องมือในการสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษา อาทิการจัดการศึกษานอกระบบผ่านทีวีสาธารณะ (ติวเข้มเติมเต็มความรู้) ETV วิทยุกระจายเสียง Social Media ในรูปแบบต่างๆ Application บน Smart Phoneสื่อ Off line ตลอดจนส่งเสริมให้มีการสร้างองค์ความรู้ที่หลากหลายมีความถูกต้องและสอดคล้องกับความจําเป็นและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เสนอผ่านช่องทางดังกล่าว
จากยุทธศาสตร์ปี 2559 ดังกล่าวหากย้อนมองถึงปีที่ผ่านมา ก็พบว่า ยังเป็นภารกิจต่อเนื่องที่ทำเป็นปกติ ความจริงจังที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนั้น คงต้องรอดูผลการปฏิบัติงานทั้งในส่วนการกำกับ การติดตาม การบริหาร รวมถึงการปฏิบัติจริงในพื้นที่อย่างจริงจังเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณอีกครั้ง............